คลัง แบงก์ชาติ ก.ล.ต. คุมคริปโทฯ ห้ามชำระค่าสินค้า ฝ่าฝืนปรับ 3 แสนบาท

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

คลัง-ก.ล.ต.-ธปท. ยกร่างหลักเกณฑ์กำกับสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ เปิดเฮียริ่ง 6 มาตรการคุมผู้ประกอบการ 5 ประเภท ชี้ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ระวางโทษปรับ 300,000 บาท และอีกวันละ 10,000 บาท แย้มไม่ปิดกั้นถือครองลงทุน-พร้อมเล็งพิจารณา Stablecoin ใช้ชำระสินค้าบริการ

วันที่ 25 มกราคม 2565 นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจตัวกลางและตลาด (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ร่างหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.(บอร์ด) เบื้องต้นมีด้วยกัน 6 มาตรการดังนี้

 

เปิด 6 หลักเกณฑ์กำกับสินทรัพย์ดิจิทัล
1.ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย Digital Asset ได้

2.ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใด ๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วย Digital Asset

3.ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย Digital Asset

4.ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขาย Digital Asset เพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น

5.ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน Digital Asset/เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ

6.ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ Digital Asset มาใช้เป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ(Means of Payment)

ทั้งนี้กรณีพบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชี Digital Asset ไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องแจ้งเตือนและพิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขาย Digital Asset ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขาย Digital Asset หรือระงับบัญชี

 

กางไทม์ไลน์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเปิดรับฟังความคิดเห็น(Hearing) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ก.พ.2565 เพื่อรวบรวมความคิดเห็น โดยในกรณีที่ข้อเสนอแนะกระทบต่อหลักการก็จะมีการเสนอบอร์ด ก.ล.ต.เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก.ล.ต.จะดำเนินการออกประกาศและบังคับใช้ได้ภายในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้เกณฑ์กำกับ ก.ล.ต.จะประกอบด้วย 5 ประเภทคือ 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) 2.นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) 4.ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service) 5.ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager)

ผู้ประกอบธุรกิจฯ ระวางโทษปรับ 300,000 บาท อีกวันละ 10,000 บาท
โดยผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต.ภายใน 15 วันหลังประกาศมีผลบังคับใช้ ในกรณีร้านค้าและผู้ประกอบการที่จับมือร่วมกันอยู่แล้วจะต้องปฏิบัติตามภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ กรณีหากไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าว จะมีโทษตามมาตรา 30 ของพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่มีการระบุการลงโทษมาตรา 67 หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกระวางโทษปรับวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะดำเนินแก้ไขตามเกณฑ์ และค่าปรับอีก 300,000 บาท

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาความผิดผู้บริหารประกอบธุรกิจ หากไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีก็จะมีความผิดในส่วนของตัวผู้บริหารด้วย ขณะที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศที่เข้ามาบริการในประเทศไทย หากมีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และไม่ได้รับใบอนุญาต(เถื่อน) จาก ก.ล.ต. ก็จะดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 1 ราย

 

ไม่ปิดกั้นถือครองลงทุน
นางจารุพรรณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การประกอบธุรกิจมีหลากหลายประเภท แต่จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทที่ ก.ล.ต.ให้การสนับสนุนคือ 1.Investment Token เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนหลังมีการพัฒนาโครงการ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสินทรัพย์หนุนหลัง(Asset-backed) 2.Utility Token จะเป็นการใช้สิทธิให้ได้สินค้าและบริการ หลังจากพัฒนาโครงการต่างๆ

ขณะที่คริปโทเคอร์เรนซี(Cryptocurrency) และ Utility Token กรณีมาใช้เป็นเหรียญในการซื้อขายในลักษณะคล้ายเงิน จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่สนับสนุนให้นำมาใช้ แต่ไม่ได้ปิดกั้นถือครองเพื่อการลงทุน

เล็งพิจารณา Stablecoin ใช้ชำระสินค้าบริการ
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบาย ระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า คลัง ธปท. และ ก.ล.ต.ได้ร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์การกำกับเพื่อให้สอดคล้องกับหลายประเทศ ซึ่งจะมีตั้งแต่ประเทศที่เข้มสุดอย่างจีน หรือเปิดสุดอย่างเอลซัลวาดอร์ และมีหลายประเทศที่อยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์การกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น อังกฤษ, อียู, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง ส่วนไทยเกาะกลุ่มอยู่ระหว่างพิจารณาความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะนำมาใช้

“เรา 3 หน่วยงานทั้ง คลัง ธปท. และ ก.ล.ต. เราเห็นความเสี่ยงมากขึ้นในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระสินค้าและบริการในวงกว้าง เราจึงต้องมีการกำกับดูแล อย่างไรก็ดีเราไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการลงทุน กำลังพิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่มีประโยชน์ แต่ในระยะต้นเราไม่ให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระเงินเป็นการทั่วไป” นางสาวสิริธิดา กล่าว

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. กล่าวว่า ธปท.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ยกตัวอย่างเช่น Stablecoin ที่มีการหนุนหลังด้วยมูลค่าเงินตรา ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศกำลังพิจารณาอยู่ และจะนำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่จะเปิดบริการได้

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/news-850584